Burapha Wittaya Chonburi School Copy

Information and News

Home | About Our School | Admissions | Chinese Academics | Programs | Activities | Calendar of Events | INFO NEWS | Links | Contact Us

ปฏิรูปการศึกษาในสังคมไทย
ชุมชนกับการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา

สุชาดา จักรพิสุทธิ์
นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนลำดับที่ 657
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9.5 หน้ากระดาษ A4)



แนวคิดและปัญหา
"การมีส่วนร่วม" เริ่มเป็นที่รับรู้ของสังคมไทยในห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยกระแสของการเมืองในโลกยุคใหม่ ที่มีทิศทาง De-centralize (กระจายออกจากศูนย์กลาง) และเน้นไปในเรื่องสิทธิของพลเมืองทั้งในฐานะปัจเจกและในฐานะหน่วยทางสังคม กับการเคลื่อนไหวและปฏิบัติการของชุมชนไทย ที่คึกคักขึ้นจากความตื่นตัวต่อปัญหาและนโยบายประชานิยม

เช่นกัน ที่วาทกรรม"การมีส่วนร่วม" ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2545 อันระบุว่า ในการจัดการศึกษาให้ยึดหลักการ ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา (มาตรา 8) และในกระบวนการจัดการศึกษาให้ยึดหลักการระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆมาใช้ และการมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันทางสังคมอื่น

ความจริง ก่อนหน้าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แวดวงการศึกษาไทยก็เริ่มให้ความสนใจต่อแนวทาง "บวร" หรือการประสานความร่วมมือในการจัดการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชน ระหว่าง บ้าน-วัด-โรงเรียน เพียงแต่ยังไม่แพร่หลาย และมีการปฏิบัติต่างๆ กันไปตามความเข้าใจ อีกทั้งยังมีปัญหาในระดับกระบวนทัศน์ของโครงสร้างบริหารการศึกษาส่วนบน ที่ยังไม่เข้าใจว่า การมีส่วนร่วมนั้น มีมิติที่มากไปกว่าการให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางความร่วมมือ และความร่วมมือนั้นมีความหมายแตกต่างจากการมีส่วนร่วมเกือบสิ้นเชิง รวมถึงการมองไม่เห็นลึกซึ้งถึงการเชื่อมโยงบทบาทของการศึกษาในระบบ กับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่เกาะเกี่ยวบูรณาการไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Live long Education)

ตัวอย่างหนึ่งของปัญหาเชิงนโยบายต่อกระบวนการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาของสังคม คือข้อมูลที่แสดงว่าแม้แต่การจัดการศึกษาในระบบโรงเรียน ที่น่าจะเปิดการลงทุนแก่ภาคเอกชน ก็กลับมีแนวโน้มลดลง เหลือเพียงร้อยละ 13 และเป็นสัดส่วนที่คงที่มากว่า 10 ปี โดยมีแนวโน้มลดลงอีก สาเหตุเนื่องจากการขยายตัวของระบบการศึกษาโดยรัฐ ที่มีอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานแนวคิดว่า รัฐควรดำเนินการจัดการศึกษาเอง จึงมีผลทำให้กฎหมาย ระเบียบและแนวปฏิบัติต่างๆ มีลักษณะของการกำกับควบคุม มากกว่าการส่งเสริม สนับสนุน

ในขณะเดียวกัน องค์กรทางสังคมและชุมชนที่จัดการศึกษาเป็นกลุ่มเล็กๆกระจัดกระจายกันอยู่นั้น ก็มีแนวคิด ปรัชญาและเป้าหมายการศึกษาที่แตกต่างไปจากความรู้ความเข้าใจของภาครัฐ เนื่องจากเป็นการศึกษาที่เน้นวิถีชีวิตและการปฏิบัติที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชน ที่เรียกกันว่ากลุ่ม การศึกษาทางเลือก ( Alternative Education )
การจัดการศึกษาโดยชุมชนเหล่านี้จึงถูกกีดกันออกไปจากระบบการศึกษาไทยมาช้านาน แต่ก็น่ายินดีที่กระแสการปฏิรูปการศึกษาและหลักสูตรท้องถิ่น เริ่มหันมาให้ความสนใจและเปิดที่ทางแก่การเชื่อมโยงซึ่งกันและกันมากขึ้น

สำหรับการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งถือเป็นหัวใจของการจัดการศึกษาให้เยาวชน จากผลการวิจัยด้านครอบครัวในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ยืนยันเสมอมาว่า ความสัมพันธ์ที่ดีและการช่วยเหลือกันระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองแและโรงเรียนในการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก นอกจากจะทำให้เด็กประสบผลสำเร็จในด้านวิชาการแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม ที่นำไปสู่ความก้าวหน้าในชีวิตอนาคต

เราจึงสรุปได้ว่า การกระจายอำนาจและการบริหารอย่างมีส่วนร่วมในทุกระดับ เป็นหลักการสำคัญที่สุดของเป้าหมายตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดกว้างให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน สถาบันทางสังคม ได้มีบทบาทเป็น"ทุนทางสังคม"และ"ทุนทางวัฒนธรรม"ให้แก่การศึกษาทุกระบบ หากแต่ยังหมายรวมถึงการเปิดที่ทางให้ชุมชน สถาบันทางสังคม ที่รวมเอาสถาบันครอบครัวไว้ด้วย ได้ปฏิบัติการตรงในการจัดการความรู้และจัดการศึกษาให้แก่ลูกหลานของเขาเอง รวมถึงการที่สถาบันทางสังคมต่างๆ จะสร้างองค์กรหรือหน่วยงานหรือสถาบันจัดการศึกษาที่หลากหลายแตกต่างไปจากระบบโรงเรียน ไว้เป็นทางเลือกแก่สังคมไทยด้วย

อย่างไรก็ดี ในที่นี้เราจะมุ่งทำความเข้าใจ การมีส่วนร่วมในมิติที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับสถานการณ์ในสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือการมีส่วนร่วมจัดการเรียนรู้ระหว่างครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน ในบริบทของการศึกษาในระบบก่อน

"ชุมชน" กับ "การมีส่วนร่วม"
ชุมชนในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่ชุมชนตามความเข้าใจเดิมอีกต่อไป กล่าวคือไม่แต่เป็นชุมชนที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และอยู่ภายใต้วัฒนธรรมชุดเดียวกันเท่านั้น อีกทั้งไม่ใช่ชุมชนในความหมายที่เป็นหน่วยการปกครองของรัฐ หากแต่เป็นชุมชนแบบใหม่ที่อาจเรียกว่า "ชุมชนโดยเจตนา" หรือ Intentional Community อันหมายถึง ผู้คนจำนวนหนึ่งที่อาจอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือต่างพื้นที่ มารวมกลุ่มกันภายใต้เจตนาที่จะดำเนินกิจกรรมหรือภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน มีความสัมพันธ์กันในระยะเวลาที่ต่อเนื่อง

หากเรามองชุมชนในความหมายใหม่ดังกล่าวนี้ ก็จะพบว่า กลุ่ม-สมาคมผู้ปกครอง หรือกลุ่มผู้รู้ท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายที่โรงเรียนอาจเชื่อมโยงถึง ก็เป็น"ชุมชน"อย่างหนึ่งนั่นเอง ดังนั้นชุมชนในกระแสโลกาภิวัตน์จึงอาจลำดับได้ดังนี้

- ชุมชนชนบท > มีวัฒนธรรมเดิม ระบบเครือญาติ ทำการเกษตร พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ
- ชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท > วัฒนธรรมผสม ทำการเกษตรรายย่อย / ขายแรงงาน / และธุรกิจรายย่อย พึ่งเมืองพึ่งธรรมชาติ มีทั้งเครือญาติและกลุ่มความสัมพันธ์ใหม่
- ชุมชนเมือง > วัฒนธรรมใหม่ รับจ้างหรือทำธุรกิจ พึ่งพาตลาด กลุ่มความสัมพันธ์ใหม่
- ชุมชนโดยเจตนา > หลากหลาย มีความสัมพันธ์แนวราบ ทำกิจกรรม / ภารกิจร่วมกัน
เป็นกลุ่มความสัมพันธ์ใหม่ในระยะเวลาหนึ่ง

สำหรับ"การมีส่วนร่วม" เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้าน เราจะพบว่ามีความหมายที่แตกต่างอย่างมากกับ"ความร่วมมือ " แต่คนมักสับสนและจัดวางเส้นแบ่งในทางปฏิบัติได้ยาก เพราะ ความร่วมมือ (Cooperation) นั้นหมายถึง การที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็น "เจ้าของหรือเจ้าภาพ" งานหรือกิจกรรมนั้น ๆ แล้วขอให้ฝ่ายอื่นๆเข้าร่วม เช่น ขอความร่วมมือด้านทรัพย์ สิ่งของแรงงานหรือเวลาในการทำกิจกรรม ฯลฯ มีลักษณะเกิดขึ้นเป็นครั้ง ๆ ไปไม่มุ่งความต่อเนื่องและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วม แต่มุ่งจะให้กิจกรรมหรืองานนั้นเสร็จตามความต้องการของฝ่ายเจ้าของงาน เช่น

โรงเรียนต้องการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เป็นโรงเรียน ISO 14000 ผู้บริหารก็เชิญผู้ปกครองประชุมเพื่อขอความร่วมมือ โดยแจ้งให้ทราบว่า ส่วนของผู้ปกครองจะทำอะไรได้บ้างเพื่อไปสู่ผลลัพธ์ดังกล่าว ความสัมพันธ์แบบนี้ ไม่ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วม หากแต่เป็นเพียงความร่วมมือเท่านั้น

แต่ การมีส่วนร่วม (Participation) คือ การที่องค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งครู ผู้เรียน ผู้บริหารการศึกษา ผู้นำชุมชน หรือสมาชิกชุมชน มาร่วมกันดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยในการดำเนินการนั้นมีลักษณะของกระบวนการ (Process) มีขั้นตอนที่มุ่งหมายจะให้เกิดการเรียนรู้ (Learning) อย่างต่อเนื่อง มีพลวัต (Dynamic) คือมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีการแก้ปัญหา การร่วมกันกำหนดแผนงานใหม่ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนในความสัมพันธ์ของทุกฝ่ายที่เข้าร่วม ซึ่งมีความหลากหลายตามความเกี่ยวข้องของกิจกรรมที่จะทำ เช่น

การสร้างหลักสูตรท้องถิ่นร่วมกันในประเด็นอนุรักษ์ทรัพย์ทรัพยากรและพลังงาน อาจมีภาคีและตัวแทนชุมชนที่เข้าร่วม แตกต่างไปจากกิจกรรมค่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นแค่กิจกรรมทั่วไป เนื่องจากหัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วมนั้นคือ การระดมความคิด ซึ่งคือการกระจายอำนาจอย่างหนึ่ง กับความสัมพันธ์ที่เป็นแนวราบ เสมอภาคกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

หลักการและกระบวนการของ "การมีส่วนร่วม" ได้แก่

- การระดมความคิด คือ การคิดค้นและวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน ในลักษณะของการร่วมคิด มิใช่จากฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว บนพื้นฐานความศรัทธาว่าทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมนั้นมีศักยภาพ
- การวางแผน คือ นำสิ่งที่ร่วมกันคิดมากำหนดเป็นแผนปฏิบัติการร่วมกัน ด้วยการระดมทรัพยากรจากทุกฝ่าย (คน สิ่งของ งบประมาณ เวลา ฯลฯ)
- การลงมือทำ คือ การนำแผนงานที่ได้ ไปร่วมกันทำหรือแบ่งงานกันรับผิดชอบเพื่อให้เป็นไปตามแผนหรือเป้าหมายที่วางไว้
- การติดตามประเมินผล คือ ร่วมกันติดตามผลงานที่ทำ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ร่วมกันคิดพัฒนาปรับปรุงให้งานดีขึ้น
- การรับประโยชน์ร่วมกัน มีทั้งผลประโยชน์ทางรูปธรรมที่ต้องการให้เกิดตามกิจกรรมที่ทำนั้น และผลประโยชน์โดยอ้อม แต่มีความสำคัญมาก คือ การเรียนรู้จากการร่วมคิดร่วมทำ และความสัมพันธ์ระหว่างภาคีที่พัฒนาไปสู่การมีส่วนร่วมที่สมานฉันท์ เสมอภาค และเอื้ออาทรกันมากขึ้นเป็นลำดับ

เปิดรั้วโรงเรียนสู่การมีส่วนร่วม
พลังของการมีส่วนร่วมจากผู้ปกครองและชุมชน ย่อมให้ผลลัพธ์อันน่าอัศจรรย์ทั้งในแง่การแบ่งเบาภาระงบประมาณ บุคลากร รวมถึงทรัพยากรอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพและความรู้จากผู้คนที่อยู่นอกรั้วโรงเรียน แต่ที่สำคัญคือ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ความเข้าใจของโรงเรียนเสียใหม่ ในสิทธิการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วน เพื่อโรงเรียนจะเปิดใจกว้างต่อแนวทางที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้น ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มใหญ่ที่เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาทั่วโลกอยู่ในเวลานี้ แล้วจะพบว่า…

บทบาทการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น มีได้ตั้งแต่ในระดับปฏิบัติและระดับนโยบาย ในระดับปฏิบัติได้แก่ การเป็นครูร่วมสอน ที่มีสาระสำคัญมากกว่าการเป็นอาสาสมัคร นั่นหมายถึงการที่ผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมในการกำหนดบทเรียน และกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกับครูในชั้นเรียนของลูก เนื่องจากผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยมีประสบการณ์ทั้งทางวิชาการและวิชาชีพ ที่อาจให้ข้อมูลความรู้ ความชำนาญเฉพาะที่มากไปกว่าตำราเรียน ทั้งนี้ครูร่วมสอนควรจะต้องวางแผนหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน การสร้างกิจกรรมหนุนเสริม ไปจนถึงการติดตามประเมินผลร่วมกับครู ซึ่งบทบาทเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วอย่างมีประสิทธิผลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์

นอกจากนี้ ก็อาจมีบทบาทปฏิบัติในการเยี่ยมบ้าน การช่วยเหลือครอบครัวที่มีปัญหาหรือมีลักษณะพิเศษ รวมถึงอาจมีบทบาทจัดกิจกรรมที่น่าสนใจในวันหยุดให้แก่กลุ่มพ่อแม่หรือเด็ก ตลอดจนการช่วยงานหรือสนับสนุนงานค้นคว้า วิจัย หรืองานห้องสมุดของโรงเรียน

โดยปกติ พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งมักได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมาคมครู / ผู้ปกครองอยู่แล้ว แต่โรงเรียนอาจคิดถึงการมีส่วนร่วมที่มากไปกว่านี้ นับแต่การเชิญผู้ปกครองให้กว้างขวางขึ้น การเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองร่วมคิดตั้งแต่การสร้าง"ธรรมนูญโรงเรียน"เสียด้วยซ้ำ ตลอดจนการสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ปกครองที่ติดตามแผนการพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง การสร้างกระบวนการพัฒนา"ผู้นำ"แก่กลุ่มผู้ปกครอง การกระจายอำนาจให้ผู้ปกครองตรวจสอบผลงานของโรงเรียนได้อย่างโปร่งใส ตลอดจนการร่วมเป็นวิทยากร เป็นคณะกรรมแผนการศึกษาต่างๆ เป็นต้น

แต่ในภาพรวมของสังคมไทย พ่อแม่ผู้ปกครองและประชาชนส่วนใหญ่ ยังไม่รู้หรือไม่มีสำนึกในเรื่องการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา และแม้แต่ไม่รู้ว่ามี"สิทธิ"ที่จะร้องขอเป็นคณะกรรมการการศึกษาในระดับต่างๆ ตั้งแต่โรงเรียนไปจนถึงเขตพื้นที่การศึกษา

อย่างไรก็ดี จุดชี้ขาดที่สำคัญยังคงอยู่ที่วิสัยทัศน์ ความเข้าใจของผู้บริหารโรงเรียน เนื่องจากนี่เป็นกระบวนการที่รื้อถอนความเคยชินเดิมๆลงอย่างสิ้นเชิง แต่หากปฏิบัติได้จริงจากน้อยไปสู่มาก ก็จะให้ผลกระทบในระดับมวลชนอย่างสำคัญ ที่จะก่อเกิดแบบอย่างและโรงเรียนพันธุ์ใหม่ ครูพันธุ์ใหม่ ผู้ปกครองพันธุ์ใหม่ นักเรียนพันธุ์ใหม่ ที่นำไปสู่คุณภาพอย่างใหม่
ได้อย่างแน่นอน

ในส่วนบทบาทการมีส่วนร่วมของชุมชน อาจมีได้ดังต่อไปนี้

- การมีส่วนร่วมเป็นแหล่งเรียนรู้ เนื่องจากโรงเรียนย่อมตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนแบบใดแบบหนึ่งทำเลที่ตั้งของชุมชนและความเป็นมาในอดีต เช่น สภาพทางภูมิศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ของชุมชน เช่น การก่อตั้งชุมชน การดำรงอยู่ ความสัมพันธ์กับปัจจัยภายนอก ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลง เป็นต้น ล้วนเป็นความรู้ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงที่จะเสริมสร้างทักษะการคิด และทัศนคติที่เหมาะสมและสำนึกต่อชุมชนแก่เด็กและเยาวชน ได้แก่

* แบบแผนการผลิตของชุมชน โครงสร้างทางระบบเศรษฐกิจ เกษตรกรรม วัฒนธรรม การเมือง สิ่งแวดล้อม ทัศนคติของคนที่มีต่ออาชีพ เป็นต้น

* วัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งความเชื่อ ค่านิยม ระบบคุณค่า ภูมิปัญญา ของกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน

* เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น ประดิษฐกรรม นวัตกรรมหรือการคิดค้นด้านการผลิตต่าง ๆ ของชุมชน ที่อาจพัฒนาหรือเป็นกรณีศึกษา

* ผู้นำชุมชนหรือผู้รู้ ในชุมชนย่อมมีผู้นำชุมชน ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โรงเรียนควรสร้างความสัมพันธ์เพื่อเกื้อหนุนร่วมมือกันต่อไป

- ด้านการศึกษาทางเลือกหรือหลักสูตรท้องถิ่น เพราะชุมชนมีศักยภาพเต็มที่ ในขณะที่โรงเรียนมักมีข้อจำกัดเรื่องตัวครู หรือบุคลากรในระบบที่จะจัดการศึกษาในหลักสูตรท้องถิ่น รวมถึงขาดแคลนองค์ความรู้ เพราะครูในระบบราชการมีความรู้วิชาการที่เน้นไปในเรื่องหลักสูตรที่รับใช้เศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม เมื่อไม่มีตัวบุคคลในระบบที่เหมาะสม โรงเรียนก็มักเพิกเฉยต่อหลักสูตรท้องถิ่นไปเสีย แต่ถ้าหากโรงเรียนปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ นำครูชาวบ้านเข้ามาทดแทน ก็จะทำให้หลักสูตรท้องถิ่นมีชีวิตชีวา ปฏิบัติได้ สอดคล้องกับความเป็นจริง ส่วนในเรื่องงบประมาณ วิธีการจัดการเรียนการสอน หรือรายละเอียดต่าง ๆ นั้น ก็จะคลี่คลายได้ ถ้าให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น

- การมีส่วนร่วมจัดการเรียนการสอน ในลักษณะนี้ อาจเป็นไปได้ตั้งแต่การเป็นวิทยากรท้องถิ่น ครูชาวบ้าน สถานประกอบการ แหล่งความรู้ ศูนย์การเรียน สถาบันทางราชการและธุรกิจเอกชน อบต. วัด ฯลฯ โรงเรียนอาจส่งนักเรียนไปเรียนรู้โดยตรงภายในชุมชน เช่น ไปฝึกงานในสถานประกอบการหรือไปเก็บข้อมูล วิจัย สัมภาษณ์ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน จากคนเฒ่าคนแก่ หรือแม้แต่การให้กลุ่มผู้ปกครอง ชุมชน มีส่วนร่วมประเมินผลการจัดการศึกษาดังกล่าวนี้ด้วย รวมถึงมีส่วนร่วมวางแผนการศึกษา การออกแบบหลักสูตรที่ต้องใช้องค์ความรู้ของชุมชน เป็นต้น โดยโรงเรียนสามารถประยุกต์ความรู้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนในหลักสูตรวิชาต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่การเป็นรหัสวิชา การทำรายงาน โครงการ สถิติ portfolio ฯลฯ

- การมีส่วนร่วมในการจัดการ ซึ่งอาจเป็นกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ การจัดการโครงการ การรณรงค์ การบริหารหรือจัดหางบประมาณ - ความร่วมมือ การบำเพ็ญประโยชน์ การเข้าร่วมดำเนินงานวาระพิเศษต่างๆ เช่น แผนงานรณรงค์ยาเสพติด โครงการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น

- การมีส่วนร่วมในระบบ Whole School Approach (W.S.A) ในสถานศึกษา หมายถึง การจัดระบบบริหารจัดการ การเรียนการสอนทั้งด้านกายภาพ และชีวภาพ ให้เหมาะแก่การเรียนรู้ร่วมกันหรือก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งภายในสถานศึกษาและจากชุมชน อาทิ การให้ชุมชนร่วมจัดจัดสิ่งแวดล้อม การฝึกอบรมแก่บุคลากร การจัดทำป้ายนิเทศ นิทรรศการ การจัดทำสื่อ เสียงตามสายฯ เป็นต้น

เรายังอาจคิดค้นกระบวนการมีส่วนร่วมได้อีกมาก หากรู้จักการทำงานร่วมกับชุมชน ชุมชนจะเป็นขุมพลังของโรงเรียนได้ไม่ยาก โดยโรงเรียนจะต้องทำให้การศึกษาข้ามพ้นไปจากห้องเรียนแบบเก่า ด้วยกระบวนการเรียนรู้และการทำกิจกรรมอย่างมีส่วนร่วม ที่มีลักษณะ

1. มุ่งผลลัพธ์ของการเรียนรู้ (Learning Outcome) ที่นักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้นำชุมชน และภาคีต่าง ๆ จะเกิดความรู้ความเข้าใจในบางเรื่องบางปัญหาร่วมกัน มากกว่ากิจกรรมของการสร้างวัตถุ (เช่น จัดหาถังขยะ การปรับปรุงสวนหย่อม)

2. เน้นการมีส่วนร่วมและบทบาทของชุมชนกับโรงเรียนอย่างเสมอภาค สมานฉันท์ มิใช่กิจกรรมของโรงเรียนฝ่ายเดียว หรือมีชุมชนเข้าร่วมอย่างจำกัดหรือเป็นครั้งคราว

3. มีแนวโน้มของความยั่งยืนในระยะยาว สามารถขยายผลต่อเนื่องไปได้ มิใช่กิจกรรมระยะสั้น ที่ทำเสร็จสิ้นไปในช่วงเวลาเฉพาะหน้าเท่านั้น

4. มีเนื้อหาที่สัมพันธ์กับฐานชีวิต ฐานวัฒนธรรมและฐานทรัพยากรของชุมชน

5. เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงเข้ากับการเรียนการสอน มิได้แยกออกมาต่างหาก

6. เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะสร้างสรรค์ สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน
โรงเรียนที่จะดำเนินการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมเช่นนี้ได้ จะต้องทำความรู้จักเข้าใจชุมชน เข้าใจวัฒนธรรม จิตวิญญาณ และศักยภาพของชุมชน

ข้อเสนอเพื่อความร่วมมือร่วมใจ
หากเราเห็นพ้องกันว่า การศึกษาคือเครื่องมือสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาและ
เป็นหนทางพัฒนาคุณภาพคน โดยเฉพาะในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ที่ก่อวิกฤตห้อมล้อมเด็กๆของเราอยู่ ลำพังครูและโรงเรียนย่อมไม่สามารถจะปกป้องและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาได้อย่างเพียงพอ จำเป็นอย่างยิ่งที่ครอบครัว ชุมชน โรงเรียนและสถาบันทางสังคม เช่น วัด รวมถึงหน่วยงานบริหารการศึกษา จะต้องร่วมมือร่วมใจกันเปิดประตูบานใหม่
ดังต่อไปนี้

1. โรงเรียนและหน่วยงานการศึกษา (ในที่นี้ เช่น เขตพื้นที่การศึกษา) ระดมการมีส่วนร่วมจากผู้ปกครองและชุมชน จัดทำเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านการเรียนการสอน

2. หน่วยงานการศึกษาควรให้ความสำคัญและสนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้ปกครอง ให้เข้ามาทำ
หน้าที่หรือมีบทบาทจัดการศึกษาในรูปแบบต่างๆ การคิดค้นแผนงานความร่วมมือ โครงการนำร่อง เป็นพี่เลี้ยงหรือกลไกการประสานงานชุมชน

3. ควรมีต้นแบบหรือพื้นที่นำร่อง หรือทำการศึกษาวิจัยกรณีศึกษาการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิผล
เจาะลึก เพื่อให้เกิดชุดความรู้การมีส่วนร่วม ที่สามารถเป็นบทเรียนหรือสืบต่อสู่คนรุ่นหลัง

4. ส่งเสริมให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษา มีหน่วยประสานที่เป็นศูนย์กลางและเป็นพี่เลี้ยง ให้คำ
ปรึกษาแก่โรงเรียนในการขยายบทบาทการจัดการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมที่มีมาตรฐาน รวมถึง
การสนับสนุนเครือข่ายพ่อแม่ เครือข่ายชุมชนที่มีความพร้อม ให้เข้ามาเป็น"หุ้นส่วน"จัดการศึกษาในเขตพื้นที่นั้น

5. กระทรวงศึกษาธิการ ควรเร่งรัดการออกกฎกระทรวงในส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการเขตพื้นที่
การศึกษา และคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และในส่วนคุณสมบัติและการได้มาซึ่งกรรมการ ควรให้มีความยืดหยุ่น และมีสัดส่วนที่ให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น รวมถึงควรมีการทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย

6. รัฐควรวางระบบ กลไกและมาตรการ ให้เอกชนและภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา
โดยกำหนดสิทธิประโยชน์แก่กลุ่มฝ่ายต่างๆอย่างชัดเจนและเป็นธรรม ตามที่กำหนดในมาตรา 14 เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนทางการศึกษาและการะดมทรัพยากรใหม่ๆ

7. การทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในระดับต่างๆ จำเป็นต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันแก่ผู้เกี่ยวข้อง อาทิ

( 7.1 ) ในส่วนของเขตพื้นที่และสถานศึกษา ควรจัดกระบวนการเรียนรู้และให้ความรู้แก่ผู้บริหาร ครู ผู้ปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความตระหนัก รวมถึงทักษะในการสานสัมพันธ์และการทำงานร่วมกับกลุ่มอันหลากหลาย การรับมือและแนวทางแก้ไขปัญหา โดยกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวต้องเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันเพื่อให้รู้จริง ไม่ใช่การฝึกอบรมระยะสั้น ทั้งนี้ อาจใช้กระบวนการต้นแบบเป็นพี่เลี้ยง

( 7.2 ) ในส่วนของพ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน ต้องจัดการเรียนรู้เพื่อให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการจัดการศึกษาแก่ลูกหลานของเขาเอง การเข้าใจในบทบาทหน้าที่ และ ระดับของการมีส่วนร่วม ซึ่งอาจดำเนินการโดยการลงมือทำพร้อมไปกับการถอดบทเรียนและการยายผล ( Learning by Doing )

8. จัดการรณรงค์อย่างกว้างขวางผ่านสื่อประเภทต่างๆ รวมทั้งการจัดทำสื่อเผยแพร่และคู่มือต่างๆที่จำเป็น เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

9. ในระยะเริ่มต้น น่าจะมีคณะกรรมการหรือองค์กรระดับชาติ ที่เป็นกลไกกลางในการรับผิด
ชอบการส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงติดตามผลและสังเคราะห์องค์ความรู้การมีส่วนร่วม เพื่อทำให้การมีส่วนร่วมจัดการศึกษาโดยทุกภาคส่วนของสังคมเกิดขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการดังกล่าว ควรประกอบด้วยตัวแทนจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงบททดลองนำเสนอ ที่ต้องการการมีส่วนร่วมคิดร่วมกำหนดความเป็นไปได้อีกมากมายต่างกรรมต่างวาระ เพื่อให้ภาพฝันอันงดงามต่อการบริหารจัดการศึกษาในแนวคิดใหม่ เกิดเป็นจริงขึ้นได้ในที่สุด